วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

ลาวดวงเดือน

กุหลาบ




ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Rosa damascema, Mill.
ชื่อสามัญ          :  Damask Rose, Persia Rose, Mon Rose
ชื่อวงศ์             :  Rosaceae











        กุหลาบมอญเป็นไม้ดอกประเภทไม้พุ่มผลัดใบ  ลำต้นตั้งตรง  กิ่งก้านมีหนาม  พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร  อายุยืน  แข็งแรง  เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ ๖ ชั่วโมง  จึงควรปลูกในที่โล่งแจ้งแต่ควรเป็นที่อับลม  ขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พอ  ชอบน้ำ  แต่ไม่ชอบน้ำขัง  ดินจึงต้องระบายน้ำได้ดี  ชอบอากาศร้อนในตอนกลางวัน  และอากาศเย็นในตอนกลางคืน  กุหลาบมอญนี้ถือได้ว่าเป็นกุหลาบพื้นเมืองของไทย  ใบเป็นใบประกอบชนิดขนนก  มีหูใบ ๑ คู่  มีใบย่อย ๓ - ๕ ใบ  ในก้านช่อใบหนึ่ง ๆ ใบจัดเรียงแบบสลับ  ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน  มีรอยย่นเล็กน้อย  ขอบใบเป็นจักละเอียด  เส้นกลางใบด้านท้องใบมีหนามห่าง ๆ   ดอกมีลักษณะค่อนข้างกลม  กลับดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น  วนออกนอกเป็นรัศมีโดยรอบ  ดอกมีสีชมพูอ่อน  สีชมพูเข้ม  ดอกมักออกเป็นช่อ  ทางปลายกิ่ง  กลีบดอกมีลักษณะปลายแหลมเรียว การขยายพันธ์ใช้วิธีตอนกิ่ง  
บทประพันธ์ที่กล่าวถึงดอกกุหลาบ
“…เที่ยวชมแถวขั้นรุกขชาติ                        ดอกเกลื่อนดกกลาดหนักหนา
กาหลงกุหลาบกระดังงา                             การะเกดกรรณิการ์ลำดวน…”
                                                 (รามเกียรติ์:พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)



ดอกประดู่



ชื่อสามัญ   :    Burma Padauk

ชื่อวิทยาศาสตร์   :    Plerocapus indicus.

ตระกูล   :      PAPILIONACEAE 


        
 ลักษณะทั่วไปการเป็นมงคลตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูกการปลูกประดู่ประดู่เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ ๑๐-๒๕ เมตรผิวเปลือกลำต้นมีสีดำหรือเทาลำต้นเป็นพูไม่กลมแตกกิ่งก้านสาขากว้างมีเรือนยอดทึบแตกเป็นสะเก็ดร่องตื้นๆใบเป็นช่อแตกออกจากปลายกิ่งมีใบย่อยประกอบอยู่ประมาณ ๖-๑๒ ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียว ใบมีขนาดยาวประมาณ ๒-๓ นิ้ว กว้างประมาณ ๑-๒ นิ้ว ออกดอกเป็นช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลมีขนเล็ก ๆปกคลุมขนาดผลโตประมาณ ๔-๖ เซนติเมตร
           คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่เพราะ ประดู่ คือ ความพร้อม ความร่วมือ ร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็ฯอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ดอกของประดู่ยังมีลักษณะที่ระดมกันบานเต็มต้นดูลานตา ดังนั้นคนโบราณจึงได้เลือกเอาต้นประดู่เป็นไม้ประจำกอง กองทัพเรือ และคนไทยโบราณยังเชื่ออีกว่า ส่วนของแก่นไม้ยังใช้เป็นศิลปะการดนตรี ที่สำคัญของคนพื้นเมืองในสมัยโบราณอีกด้วย คือใช้ทำเป็นเครื่องเสียงพวกระนาด นั่นก็หมายถึง ความแข็งแกร่ง แข็งแรง

คำประพันธ์ที่เกี่ยวกับ ดอกประดู่

              ประดู่ลำดวนยมโดย                            ลมโชยกลิ่นชวนหอมหวาน
        นางแย้มสายหยุดพุดตาล                          อังกาบชูก้านกระดังงา
                                                                         รามเกียรติ์  : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

คำคม ข้อคิดดีๆ .... จากหลากหลายนักปราชญ์

คำคม ข้อคิดดีๆ .. จากหลากหลายนักปราชญ์
 

1. "ใช้ชีวิตให้เสมือนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เรียนรู้ให้เสมือนว่าท่านจะอยู่ในโลกนี้ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด" ...มหาตมะคานธี...
2. "สามคนเดินมา ต้องมีคนหนึ่งที่เป็นครูเราได้" ...ขงจื้อ...
3. "ความรักเป็นสิ่งมีค่า แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่าความรักนั้นมีอยู่" ...พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ...
4. "ตาสามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลได้ แต่ไม่สามารถมองเห็นคิ้วของตัวเองได้" ...ขงเบ้ง...
5. "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ...พุทธสุภาษิต หมวดธรรมเบื้องต้น
6. "กรรมชั่วของตน นำตนไปสู่ ทุคติ" ...พุทธสุภาษิต หมวดกรรม...
7. "บรรดาการงานของมนุษย์ก็เพื่อปากของเขา แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่รู้จักอิ่ม" ...คัมภีร์ไบเบิ้ล ปัญญาจารย์ 6:7...
8. "สิ่งที่ดีและสวยงามที่สุดในโลกมองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้แต่จะรู้สึกได้จากหัวใจ" ...Helen Keller กวีชาวอเมริกัน...
9. "สิ่งที่ได้มาเปล่าคือความเฒ่าชรา สิ่งที่ต้องแสวงหาคือคุณค่าของชีวิต" ...หลวงปู่จันทร์ กุสโล...
10. "อยู่ใต้ฟ้าเดียวกันก็จริง แต่คนเราเห็นขอบฟ้าไม่เหมือนกัน" ...Konrad Adenauer กวีชาวเยอรมัน...
11. "คนเราแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เปลี่ยนอนาคตได้" ...วินทร์ เลียววาริณ...
12. "จุดที่ต่ำสุดของชีวิตที่ทุกคน มีโอกาสประสบเป็นได้ทั้งจุดจบและบทเรียนที่ดี" ...ภาษิตตะวันตก...
13. "มีเพียงชีวิตเพื่อผู้อื่นเท่านั้นที่มีคุณค่าแก่การมีชีวิต" ...อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์...
14. "คนฉลาดไม่เคยร้องไห้หาสิ่งที่สูญเสียไป แต่เขาจะหาวิธีปรับแต่งแก้ไขความเสียหายนั้นอย่างร่าเริง" ...วิลเลียม เชคสเปียร์...
15. "คนเรานั้นมักมีความสุขจากการได้มากกว่าความสุขจากการมี" ...พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล...
16. "ไม่มีสิ่งใด ๆ ในโลกที่ดีหรือเลว มีแต่ความคิดของเราเท่านั้นที่ทำให้เกิดความดีและความเลว" ...วิลเลียม เชคสเปียร์...
17. "บางครั้งคนเราก็ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ไร้ค่า" ...อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์...
18. "เมื่อได้เพียรพยายามแล้ว ถึงจะตายก็ชื่อว่า ตายอย่างไม่มีใครติเตียน" ...พุทธสุภาษิต หมวดความเพียร...
19. "หากบริษัทขาดคุณไปเค้าก็หาคนอื่นมาแทนคุณได้ แต่ถ้าครอบครัวขาดคุณไปก็หาใครมาแทนที่คุณไม่ได้" ...จาก ภรรยาที่รักของคุณ...
20. "ความยโสโอหังเป็นที่มาของบรรดาความทุกข์ยาก" ...มหาตมะคานธี...


ขอบคุณข้อความดีดีจาก :  http://variety.teenee.com/foodforbrain/50358.html

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการอ่าน


        ทักษะการสื่อสารของมนุษย์ ประกอบไปด้วย การฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน การฟังและการอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับในการสื่อสารเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม การฟังเป็นทักษะซึ่งอาจมีข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่และความคงทนของสาร ส่วนการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญในการแสวงหาความรู้ ทั้งนี้ด้วยสื่อที่ใช้สำหรับการอ่านมีความคงทนมากกว่า ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา และสถานที่
        ดังนั้นจึงถือได้ว่า ทักษะการอ่านมีความจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับผู้ที่แสวงหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน นักศึกษา เพราะความสำเร็จทางการศึกษาย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและพื้นฐานทางการอ่านที่ดี
        ๑.๑ ความหมายและความสำคัญ
        การอ่าน คือ กระบวนการรับรู้และเข้าใจสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจึงแปลสัญลักษณ์อักษรเหล่านั้นเป็นความรู้ โดยอาศัยทักษะการอ่าน กระบวนการคิด ประสบการณ์และความรู้ของผู้อ่านรวมถึงเมื่ออ่านจบแล้ว ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องที่อ่าน  ทั้งในลักษณะ เห็นด้วย คล้อยตาม หรือโต้แย้ง ในการอ่านแต่ละครั้งไม่เพียงแต่ผู้อ่านจะได้รับสาระหรือเรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเท่านั้น แต่ผู้อ่านยังสามารถรับรู้ทัศนะ เจตนา อารมณ์ และความรู้สึกที่ผู้เขียนถ่ายทอดมาในสาร ซึ่งสิ่งที่ได้รับมาจากการอ่านแต่ละครั้งจึงมีทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ คือ ข้อเท็จจริง และส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก หรือทัศนะของผู้เขียน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ในการตีความตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนทักษะการอ่านเพื่อให้เข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
        ๑.๒ ระดับของการอ่าน
        ระดับของการอ่านแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ อ่านได้และอ่านเป็น การรับรู้จากการอ่านโดยทั่วไปเริ่มจากระดับที่อ่านได้ คือ สามารถแปลความหมาย รับรู้สารผ่านด้วยอักษร ส่วนในระดับอ่านเป็น ผู้อ่านจะสามารถจับใจความสำคัญ แนวคิดของเรื่อง รวมถึงความหมายแฝง หรือความหมายที่ได้จากการตีความ สามารถประเมินค่าจากสารที่อ่านได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละคน


แนวคิดเกี่ยวกับการอ่าน


          การอ่านออกเสียงเป็นวิธีการอ่านที่ควรใช้น้ำเสียงให้ถูกต้อง สอดคล้อง และมีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่องแต่ละประเภท รวมถึงการรู้จักฝึกฝนการอ่านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้มีพื้นฐานการอ่านที่ดี เกิดความชำนาญในการอ่าน รวมถึงการมีมารยาทในการอ่านและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม จึงจะได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลอื่น

ประเภทของการอ่าน



                  โดยทั่วไปการอ่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ การอ่านออกเสียงและการอ่านในใจ ดังนี้
๑.      การอ่านออกเสียง คือการอ่านหนังสือโดยที่ผู้อ่านเปล่งเสียงออกมาดัง ๆ ในขณะอ่าน โดยมีจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ดังนี้ เพื่อความบันเทิง เพื่อถ่ายทอดข่าวสาร เพื่อประกาศ เพื่อรายงานหรือเพื่อแถลงนโยบาย ดังนั้น การอ่านออกเสียง จึงเป็นการแปลสัญลักษณ์หรืออักษรออกเป็นเสียง จากนั้นจึงแปลสัญญาณเสียงเป็นความหมาย ซึ่งผู้อ่านต้องระมัดระวังการอ่านออกเสียงทั้งเสียง “ร”  “ล” คำควบกล้ำ การสะกด จังหวะ ลีลา และการเว้นวรรคตอนให้ถูกต้องไพเราะ เหมาะสม
๒.     การอ่านในใจ  คือ การทำความเข้าใจสัญลักษณ์ที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงรูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ ออกเป็นความหมายโดยใช้สายตาทอดไปตามตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ แล้วจึงใช้กระบวนการคิด แปลความหมาย ตีความ เพื่อรับสารของเรื่องนั้น ๆ

ตารางแสดงขั้นตอนการอ่านออกเสียงและการอ่านในใจ
            ขั้นตอน
วิธีการ
การอ่านออกเสียง
รับรู้ตัวหนังสือ
แปลสัญลักษณ์
ตัวอักษรเป็นเสียง
=>การพูด
แปลเสียงเป็นความหมาย
=>รับรู้ความหมาย
การอ่านในใจ
รับรู้ตัวหนังสือ
แปลสัญลักษณ์
ตัวอักษรเป็นความหมาย
=>รับรู้ความหมาย




      

เป้าหมายการเรียนรู้


๑.     บอกความหมายและความสำคัญของการอ่านได้
๒.     บอกจุดประสงค์ของการอ่านได้
๓.     อ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองได้ถูกต้องตามอักขระวิธีและความไพเราะเหมาะสม
๔.     มีมารยาทในการอ่าน



จุดประสงค์ของการอ่าน

จุดประสงค์ของการอ่าน 
 การอ่านหนังสือ มีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้
  ๑) อ่านเพื่อการเขียน คือ การอ่านเพื่อนำความรู้มาใช้ในการเขียน เช่น เรียงความ บทความ สารคดี ฯลฯ ซึ่งผู้อ่านควรวิเคราะห์ความถูกต้องของข้อมูล คัดเลือกข้อมูลที่เหมาะสมนำไปใช้เขียนหรืออ้างอิง เช่น การอ่านหนังสือ เรื่องวัฏจักรชีวิตของกบ เพื่อนำข้อมูลมาเขียนรายงานวิชาวิทยาศาสตร์
  ๒) อ่านเพื่อหาคำตอบ คือการอ่านเพื่อต้องการคำตอบสำหรับประเด็นคำถามหนึ่งๆ จากแหล่งค้นคว้าและเอกสารประกอบต่าง ๆ เพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเอง เช่น การอ่านหนังสือวิชาฟิสิกส์ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
  ๓) อ่านเพื่อปฏิบัติตาม คือการอ่านเพื่อทำตามคำแนะนำในข้อความหรือหนังสือที่อ่าน เช่น การอ่านฉลากยา เพื่อดูคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา หรือการอ่านตำราทำอาหาร ที่มีการอธิบายขั้นตอน วิธีการทำ รวมถึงเครื่องปรุงส่วนผสมอย่างละเอียด ซึ่งการอ่านด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ ผู้อ่านจะต้องทำความเข้าใจรายละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อสามารถปฏิบัติตามได้
 ๔) อ่านเพื่อสะสมความรู้หรือสะสมความรู้ คือการอ่านเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ความรู้ โดยทำให้ผู้อ่านที่เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป และไม่จะเป็นต้องมีโอกาสและกาลเทศะมากำหนดให้ต้องอ่าน ซึ่งการอ่านแต่ละครั้งควรเก็บและเรียบเรียงประเด็นสำคัญของเรื่องที่อ่าน ไว้เป็นคลังความรู้สำหรับนำมาใช้อ้างอิงในภายหลัง เช่น การอ่านหนังสือทางวิชาการ
 ๕) อ่านเพื่อความบันเทิง คือการอ่านตามความพึงพอใจของผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลิน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยยกระดับจิตใจ ช่วยให้เกิดความสุข ผ่อนคลาย คลายความทุกข์ใจ และบางครั้งผู้อ่านอาจได้ข้อคิดและแนวทางในการใช้ชีวิต เช่น การอ่านนิยาย นิตยสาร วารสาร เป็นต้น
๖) อ่านเพื่อรู้ข่าวสาร คือ การอ่านเพื่อศึกษา รับรู้ความเป็นไปของโลก และพัฒนาความรู้ของตนเอง เช่น การอ่านข่าว นิตยสาร วารสาร เป็นต้น
๗) อ่านเพื่อแก้ปัญหา คือ การอ่านเพื่อต้องการคำตอบ หรือแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การอ่านพจนานุกรม เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับคำศัพท์ ความหมาย การสะกดการันต์ที่ถูกต้อง หรือการอ่านหนังสือแนะนำการเดินทาง แผนที่ เป็นต้น