วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รสในวรรณคดีไทย

รสแห่งกาพย์กลอนไทยมี ๔ รส 
๑. เสาวรจนีย์ (บทชมโฉม) คือ การเล่าชมความงามของตัวละครในเรื่อง ซึ่งอาจเป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ หรือสัตว์ซึ่งการชมนี้อาจจะเป็นการชมความเก่งกล้าของกษัตริย์ ความงามของปราสาทราชวังหรือความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่น บทชมโฉมนางมัทมา โดยท้าวชัยเสนรำพันไว้ ในวรรคดีเรื่องมัทนะพาธา
เสียงเจ้าสิเพรากว่า          ดุริยางคะดีดใน
ฟากฟ้าสุราลัย               สุรศัพทะเริงรมย์
ยามเดินบนเขินขัด          กละนัจจะน่าชม
กรายกรก็เร้ารม              ยะประหนึ่งระบำสรวย
ยามนั่งก็นั่งเรียบ            และระเบียบเขินขวย
แขนอ่อนฤเปรียบด้วย     ธนุก่งกระชับไว้
พิศโฉมและฟังเสียง      ละก็เพียงจะขาดใจ ...
                               (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
บทชมนางเงือก ซึ่งติดตามพ่อแม่มาเพื่อพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร จากเรื่อง พระอภัยมณี
บทกษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย        ดูแช่มช้อยโฉมลาทั้งเผ้าผม
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม    ทั้งเนื้อนมนวลเปลปงออกเต่งทรวง
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด           ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง
พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง   แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป
                                                                    (สุนทรภู่)

เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ          งามสรรพสะพรั่งดังเลขา
งามเขาเห็นเป็นกิ่งกาญจนา         งามตานิลรัตน์รูจี
คอก่งเป็นวงราววาด                  รูปสะอากราวนางสำอางศรี
เหลียวหน้ามาดูภูมี                   งามดังนารีชำเลืองอาย
ยามวิ่งลิ่วล้ำดังลมส่ง                ตัดตรงทุ่งพลันผันผาย
                                         (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

๒. นารีปราโมทย์ (บทเกี้ยว โอ้โลม) คือการกล่าวข้อความแสดงความรัก ทั้งที่เป็นการพบกันในระยะแรกๆ และในโอ้โลมปฏิโลมก่อนจะถึงบทสังวาสนั้นด้วย
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร            ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร               ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา              เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำไพขอให้พี่                   เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่ครอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง    เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
                                             (สุนทรภู่)

๓. พิโรธวาทัง (บทตัดพ้อ) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่น้อยไปจนมาก จึงเริ่มตั้งแต่ ไม่พอใจ โกรธ ตัดพ้อ ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี และด่าว่าอย่างรุนแรง
น้ำใจนางเหมือนน้ำค้างบนไพรพฤกษ์    เมื่อยามดึกดังจะรองเข้าดื่มได้
ครั้งรุ่งแสงสุรีย์ฉายก็หายไป               เพิ่งเห็นใจเสียเมื่อใจจะขาดรอน
                                                 (ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)
ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้                          ถึงเสียรู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน
เป็นชายหมิ่นชายต้องอายคน           จำจนจำจากอาลัยลาน
                                               (เจ้าพระยาพระคลัง(หน))
บทตัดพ้อที่แสดงทั้งอารมณ์รักและแค้นของ อังคาร กัลยาณพงศ์ จากบทกวี เสียเจ้า
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก                  ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย                 อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
                                            (อังคาร กัลยาณพงศ์)
บทตัดพ้อที่แทรกอารมณ์ขันของ  จากบทกวี ปากกับใจ
เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก                 ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน
ไม่รักเราเราจักไม่รักใคร               เอ๊ะน้ำตาเราไหลทำไมฤๅ
                                            (สุจิตต์ วงษ์เทศ)
๔. สัลลาปังคพิไสย (บทโศก) คือ การกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า อาลัยรัก บทโศกของนางวันทอง ซึ่งคร่ำครวญอาลัยรักต้นไม่ในบางขุนช้าง อันแสดงให้เห็นว่านางไม่ต้องการตามขุนแผนไป แต่ที่ต้องไปเพราะขุนแผนร่ายมนต์สะกด ก่อนลานางได้ร่ำลาต้นไม้ก่อนจากไป จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี
ลำดวนเอยจะด่วนไปก่อนแล้ว         ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
จะโรยร้างห่างกลิ่นมาลี                จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
                                            (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
          สุนทรภู่คร่ำครวญถึงรัชกาลที่2ซึ่งสวรรคตแล้ว เป็นเหตุให้สุนทรภู่ต้องตกระกำลำบาก เพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่3 ต้องระเห็ดเตร็ดเตร่ไปอาศัยในที่ต่างๆขณะล่องเรือผ่านพระราชวัง สุนทรภู่ซึ่งรำลึกความหลังก็คร่ำครวญอาลัยถึงอดีตที่เคยรุ่งเรืองจากนิราศภูเขาทอง
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ        ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา                  วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์
                                                (สุนทรภู่)



บทละครพูด เรื่อง เห็นแก่ลูก

ผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นามแฝงว่าพระขรรค์เพชร พระองค์ทรงผูกเรื่องและทรงเรียบเรียงเอง

รูปแบบ : เรื่องเห็นแก่ลูกแต่งเป็นบทละครพูด เป็นเรื่องขนาดสั้น มี 1 องค์

ลักษณะการแต่ง
            รัชกาลที่ 6 ทรงผูกเรื่องอย่างรัดกุมและดำเนินเรื่องโดยใช้บทสนทนาของตัวละครโต้ตอบกัน ทำให้ทราบเรื่องราวที่ดำเนินไป และทราบเบื้องหลังของตัวละครแต่ละตัว นอกจากนี้ ยังทรงบรรยายกริยาท่าทางของตัวละครแต่ละตัวไว้ในวงเล็บ เพื่อช่วยให้นักแสดง แสดงตามบทได้สะดวกและสมบทบาทยิ่งขึ้น ภาษาที่ใช้ในบทละครนี้ ใช้คำพูดง่ายๆแต่ให้ความหมายคมคายลึกซึ้ง แม้ว่าบางคำที่มีใช้ในอดีตสมัย 80-90ปีก่อนแต่ไม่มีใช้ในปัจจุบัน ผู้อ่านก็ยังพอเดาความหมายได้

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2423 เมื่อ พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรม ขุนเทพทวาราวดี และต่อมาทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร แทนสมเด็จพระบรมเชษฐา เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งสวรรคต และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักปราชญ์ (ทรงได้รับการถวายพระ ราชสมัญญาว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) และทรงเป็นจินตกวีที่ทรงเชี่ยวชาญทาง ด้านอักษรศาสตร์โบราณคดี มีพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วร้อยกรองทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มากกว่า 200 เรื่อง ทรงใช้นามแฝงต่างๆกัน เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ ศรีอยุธยา พันแหลม นายแก้วนายขวัญ ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา

เนื้อเรื่องย่อ
            นายล้ำมาที่บ้านพระยาภักดีนฤนาถ มีอ้ายคำซึ่งเป็นคนรับใช้ของพระยาภักดีให้การต้อนรับ และนั่งคอยดูอยู่ห่างๆเนื่องจากไม่ไว้ใจเพราะเห็นสภาพของนายล้ำที่แต่งตัวปอนๆ ท่าทางดื่มเหล้าจัดจนเมื่อพระยาภักดีกลับมาบ้านได้พบนายล้ำจึงทำให้ทราบเรื่องราวของคนทั้งสอง จากการสนทนาโต้ตอบกันว่า เดิมนายล้ำเป็นเพื่อนกับพระยาภักดี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหลวงกำธร ส่วน นายล้ำเป็นทิพเดชะ นายล้ำมีภรรยา คือแม่นวล มีลูกสาวคือ แม่ลออ เมื่อแม่ลออมีอายุ 2 ขวบ เศษ นายล้ำก็ถูกจำคุกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ แม่นวลเลี้ยงดูลูกสาวมาตามลำพัง ก่อนตายจึงยก ลูกสาวให้เป็นลูกบุญธรรมของพระยาภักดี นายล้ำจำคุกอยู่ 10 ปี ก็ออกจากคุกไปร่วมค้าฝิ่นอยู่ กับจีนกิมจีนเง็ก ที่พิษณุโลก พอถูกตำรวจจับได้ก็แก้ข้อกล่าวหาเอาตัวรอดฝ่ายเดียว ต่อมาก็ ตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว จึงตั้งใจจะมาอยู่กับแม่ลออ ซึ่งมีอายุ 17 ปี กำลังจะแต่งงาน กับนายทองคำ แต่พระยาภักดีพยายามชี้แจงให้นายล้ำเห็นแก่ลูกสาวไม่ต้องการให้ถูกคนอื่น รังเกียจว่ามีพ่อเป็นคนขี้คุกและฉ้อโกง จนในที่สุดเสนอเงินให้ 100 ชั่ง แต่นายล้ำก็ไม่ยอมเมื่อ แม่ลออกลับมาถึง นายล้ำจึงได้รู้จักกับแม่ลออและได้เห็นประจักษ์ว่าตนเลวเกินกว่าจะเป็นพ่อ ของแม่ลออ ซึ่งหล่อนได้วาดภาพพ่อไว้ในใจว่า พ่อเป็นคนดีที่หาที่ติไม่ได้เลย


ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
1.ความดีความชั่วที่บุคคลได้กระทำลงไป อาจส่งผลช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆหลายประการ
2.เหตุการณ์ที่กระทบใจมนุษย์ และมีผลให้มนุษย์แปรเปลี่ยนความตั้งใจไปได้อย่างตรงกันข้ามนั้น อาจเกิดได้โดยไม่ได้คาดฝัน และโดยมิใช่เจตนาของใครทั้งสิ้น
3.ความรักและความภูมิใจที่บิดามีต่อบุตร ทำให้บิดายอมเสียสละให้แก่บุตรโดยไม่หวังผลตอบแทน ใดๆทั้งสิ้น
4.ความรักอันบริสุทธิ์ที่บุคคล 2 คนมีต่อกันนั้น จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะบุคคล 2 คน เท่านั้น แต่อาจเผื่อแผ่ไปถึงบุคคลที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

ม.3/4


วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเขียนเรียงความที่ดี เขียนอย่างไร....

           เรียงความ คือ งานเขียนร้อยแก้วที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความคิด ความรู้สึกของผู้เขียน โดยมีการเรียบเรียงประโยค เรียบเรียงคำด้วยภาษาที่สละสลวย สำหรับเรียงความที่ดีนั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

1. คำนำ

           เรียงความที่ดีนั้นควรเขียน "คำนำ" เป็นส่วนแรก โดย "คำนำ" จะทำหน้าที่เปิดประเด็นของเรื่องที่เราจะเขียน ซึ่งควรเปิดประเด็นให้น่าสนใจ ใช้ภาษาสละสลวย ดึงดูดใจให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อ แต่ไม่ควรบรรยายมากจนเยิ่นเย้อเกินไป ควรเขียนให้กระชับ ตรงประเด็น ไม่ออกนอกเรื่อง และไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุป

           ทั้งนี้ หลาย ๆ เรียงความ อาจเปิดเรื่องด้วยการยกคำคม สุภาษิต หรือบทกวีที่ไพเราะมาเปิดเรื่องเป็นคำนำก็ได้ ซึ่งหากเขียนดี ๆ ก็จะช่วยทำให้เรียงความนี้ดูน่าสนใจขึ้นมาก

2. เนื้อเรื่อง

           เป็นส่วนสำคัญของเรียงความ ซึ่งจะใช้อธิบายในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกเล่า ทั้งความคิด ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ โดยก่อนเขียนเนื้อเรื่องนั้น ผู้เขียนควรวางโครงเรื่องไว้ก่อนว่าแต่ละย่อหน้าจะเขียนในประเด็นใดบ้าง เพื่อจะได้ไม่สับสน และทำให้การเรียบเรียงเนื้อเรื่องดูเป็นระเบียบ

           สำหรับการเขียน "เนื้อเรื่อง" นั้น สิ่งสำคัญก็คือ ผู้เขียนต้องเขียนข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วน แต่ละย่อหน้าควรมีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว และเนื้อหาทุกย่อหน้าต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ไม่วนไปวนมา เพื่อจะทำให้ผู้อ่านไม่สับสน และเข้าใจว่า ผู้เขียนต้องการสื่อหรือบอกอะไรถึงผู้อ่านได้รับรู้

3. สรุป

           เรียงความที่ดีนั้นต้องมีส่วนสรุปในย่อหน้าสุดท้ายของเรียงความด้วย เพื่อทิ้งท้ายให้ผู้อ่านรู้สึกประทับใจ โดยการเขียนสรุปนั้น ทำได้หลายวิธี อย่างเช่น การตั้งคำถามทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด การชักชวน หรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านปฏิบัติตาม คล้อยตามในความคิดของเรา หรือทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจ หรือยกคำพูด คำคมที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของเรามาปิดท้ายก็ได้ 

           ทั้งนี้ หลัก ๆ ก็คือ ควรเขียนสรุปให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ และไม่ควรตั้งประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก เพราะจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรียงความของเรายังไม่จบ และที่สำคัญ ไม่ควรสรุปด้วยการใช้เขียนในลักษณะที่ว่าขออภัยหากมีข้อผิดพลาดประการใด หรือออกตัวว่าผู้เขียนไม่มีความรู้ เพราะจะทำให้เรียงความชิ้นนี้ดูไม่น่าเชื่อถือ