วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ชนิดและหน้าที่ของประโยค


ความหมายของประโยค 
               ประโยค เกิดจากคำหลายๆคำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย เป็นต้น
ส่วนประกอบของประโยค
               ประโยคหนึ่ง ๆ จะต้องมีภาคประธานและภาคแสดงเป็นหลัก และอาจมีคำขยายส่วนต่าง ๆ ได้
         1. ภาคประธาน   ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น
         2. ภาคแสดง    ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม
บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำ 
ชนิดของประโยค
            ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสารดังนี้
   1. ประโยคความเดียว
            ประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีข้อความหรือใจความเดียว ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกรรถประโยค เป็นประโยคที่มีภาคประโยคเพียงบทเดียว และมีภาคแสดงหรือกริยาสำคัญเพียงบทเดียว หากภาคประธานและภาคแสดงเพิ่มบทขยายเข้าไป ประโยคความเดียวนั้นก็จะเป็นประโยคความเดียวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
   2. ประโยคความรวม
           ประโยคความรวม คือ ประโยคที่รวมเอาโครงสร้างประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าไว้ในประโยคเดียวกัน โดยมีคำเชื่อมหรือสันธานทำหน้าที่เชื่อมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ประโยคความรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเนกกรรถประโยค
   3. ประโยคความซ้อน
             ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว
 ประกอบด้วยประโยคความเดียวที่มีใจความสำคัญ เป็นประโยคหลัก (มุขยประโยค) และมีประโยคความเดียวที่มีใจความเป็นส่วนขยายส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก เป็นประโยคย่อยซ้อนอยู่ในประโยคหลัก (อนุประโยค) โดยทำหน้าที่แต่งหรือประกอบประโยคหลัก ประโยคความซ้อนนี้เดิม เรียกว่า สังกรประโยค 
 หน้าที่ของประโยค
            ประโยคต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารย่อมแสดงถึงเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น บอกกล่าว เสนอแนะ อธิบาย ซักถาม ขอร้อง วิงวอน สั่งห้าม เป็นต้น หากจะแบ่งประโยคตามหน้าที่หรือลักษณะที่ใช้ในการสื่อสาร สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
             1. บอกเล่าหรือแจ้งให้ทราบ  เป็นประโยคที่มีเนื้อความบอกเล่าบ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานทำกริยา อะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่  เช่น  
                - ฉันไปพบเขามาแล้ว 
                - เขาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ
             2. ปฏิเสธ  เป็นประโยคมีเนื้อความปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ มิใช่ ใช่ว่า ประกอบอยู่ด้วย  เช่น
               - เรา ไม่ได้ ส่งข่าวถึงกันนานแล้ว   
               - นั่น มิใช่ ความผิดของเธอ
             3. ถามให้ตอบ  เป็นประโยคมีเนื้อความเป็นคำถาม จะมีคำว่า หรือ ไหม หรือไม่ ทำไม เมื่อไร ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่หน้าประโยคหรือท้ายประโยค  เช่น 
                - เมื่อคืนคุณไป ที่ไหน มา
                - เธอเห็นปากกาของฉัน ไหม
            4. บังคับ ขอร้อง และชักชวน  เป็นประโยคที่มีเนื้อความเชิงบังคับ ขอร้อง และชักชวน โดยมีคำอนุภาค หรือ คำเสริมบอกเนื้อความของประโยค  เช่น 
                - ห้าม เดินลัดสนาม
               - กรุณา พูดเบา 

สรุป
               การเรียบเรียงถ้อยคำเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน สามารถขยายให้เป็นประโยคยาวขึ้นได้ด้วยการใช้คำ กลุ่มคำ หรือประโยค เป็นส่วนขยาย ยิ่งประโยคมีส่วนขยายหรือองค์ประกอบมากส่วนเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจต่อกันมากขึ้นเพียงนั้น ข้อสำคัญ คือ ต้องเข้าใจรูปแบบประโยค การใช้คำเชื่อมและคำขยาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเจตนาในการส่งสารด้วย ผู้มีทักษะในการเรียบเรียงประโยคสามารถพัฒนาไปสู่การเขียน เล่า บอกเรื่องราวที่ยืดยาวได้ตามเจตนาของการสื่อสาร ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างประโยค และวิธีการสร้างประโยคให้แจ่มแจ้งชัดเสียก่อนจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิผล และสามารถใช้ภาษาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การสื่อสารของมนุษย์

         เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมมีการติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน มนุษย์จะรับรู้เรื่องราวและความหมาย รหัส หรือ สัญลักษณ์ต่างๆโดยรวมเรียกว่าภาษา
การสื่อสารของมนุษย์มีองค์ประกอบดังนี้
          1.ผู้ส่งสาร(ผู้พูดหรือผู้เขียน)                          2.สื่อหรือช่องทาง รวมทั้งการติดต่อ
          3.สารซึ่งใช้เป็นเนื้อหาบอกข้อมูลต่างๆ              4.ผู้รับสาร(ผู้ฟัง/ผู้ดู/ผู้อ่าน)
          5.สภาพแวดล้อม ได้แก่ กาลเทศะ โอกาส และบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดให้สื่อสารเหมาะสมกับชีวิตและวัฒนธรรม
การฟังและการดู
          การฟังเป็นการรับสารทางเสียง ส่วนการดูเป็นการรับสารทางภาพ
ความสำคัญของการฟังและการดู
          คนเรามีหูไว้ฟังเสียงและเรื่องราวต่างๆอีกทั้งยังมีตาไว้ดู สังเกต และมองสิ่งต่างๆรอบตัวนำมาใช้สร้างสรรค์สังคมให้เจริญรุ่งเรื่องมานับพันๆปีจากคนสมัยก่อน
 จุดมุ่งหมายของการฟังและการดู
          ในยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบันมีเรื่องราว ข้อมูลข่าวสารมากมาย นักเรียนจำเป็นต้องเลือกสรร ฟังและดูสารที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ หากไม่รู้จักคัดเลือกสารก็จะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นควรมีจุดมุ่งหมายของการฟังและการดู ดังนี้
          1. ฟังและดูเพื่อรับสาระความรู้ เพิ่มพูนสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์
          2.ฟังและดูเพื่อความบันเทิงผ่อนคลาย
การพัฒนาทักษะของการฟังและการดู
          ธรรมชาติสร้างให้คนเราฟังและดูตั้งแต่กำเนิดฉะนั้นควรจะพัฒนาทักษะอยู่เสมอ
          1.ตั้งใจฟังและดู
          2.ตั้งคำถาม
          3.จดบันทึก
          การพัฒนาทักษะการฟังและการดูเหล่านี้จะช่วยให้การฟังและการดูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการฟังเพื่อจับประเด็นและใจความสำคัญ
          การฟังจับประเด็นและใจความสำคัญใช้เพื่อฟังสาระและความบันเทิงให้แน่ชัดขึ้นอย่างเช่นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร แล้วสรุปเป็นประเด็น
หลักการฟังเพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น 
          นอกจากจะฟังเข้าใจและสามารถสรุปได้แล้ว นักเรียนจะต้องใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณว่าข้อมูลเรื่องราวที่ฟังส่วนใดสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งใดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งเราจะสามารถกลั่นกรองความคิด ความเชื่อถือ ไม่ให้หลงไปเชื่อผู้อื่นได้ง่ายๆ 
          การฟังข้อคิดเห็น ส่วนใหญ่จะอยู่ในโฆษณาซึ่งโน้มน้าวใจ เพราะใช้ความเกินจริง
มารยาทในการฟังและดู
          การพัฒนาการฟังและการดูยังไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอ ควรเสริมสร้างนิสัยและมารยาทที่ดีในการฟังและดูด้วยซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้มีวัฒนธรรม
          1.แสดงท่าทีสุภาพ เหมาะสมแก่โอกาสและสถานที่ บุคคลโดยเฉพาะในโอกาสและสถานที่ที่เป็นทางการ พิธีการ
          2.สนใจและตั้งใจในขณะที่ฟังและดู
          3.ให้เกียรติผู้พูด

การพูด
          มนุษย์สามารถเปล่งเสียงและรู้จักพัฒนาเสียงที่ไม่มีความหมายให้เข้าใจร่วมกัน แต่ละคนตั้งแต่ทารกจะสามารถ"พูดได้ "ด้วยการเลียนเสียงของผู้อื่นจากนั้นก็พัฒนามาเป็น"พูดเป็น"เมื่อมีโอกาสฝึกฝนก็จะกลายเป็น"พูดดี"ความสำคัญของการพูด
          ในการติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกัน จำเป็นต้องพูดปราศรัยบอกกล่าวเรื่องราวให้คนอื่นเข้าใจ ถ้าทุกคนพูดดี สังคมก็จะเกิดความสันติสุข ถ้าทุกคนพูดไม่ดี สังคมก็จะเกิดความขัดแย้ง
     การพัฒนาทักษะการพูด
          1.การฝึกออกเสียง                                     2.ฝึกบุคลิกภาพในขณะที่พูด
          3.ฝึกรูปแบบการพูดในสถานการณ์ต่างๆ
จุดมุ่งหมายในการพูด
          1.พูดเพื่อแจ้งให้ทราบ                                  2.พูดเพื่อโน้มน้าวใจ
          3.พูดเพื่อจรรโลงใจหรือให้ข้อคิดเตือนใจ            4.พูดเพื่อค้นหาคำตอบ
ประเภทของการพูด
          1.การพูดเล่าเรื่องราว เล่าเหตุการณ์ การเล่านิทาน          2.การพูดรายงาน
          3.การพูดแสดงความคิดเห็น และมีการพูดโต้วาทีด้วย
มารยาทในการพูด
          1. พูดสุภาพ
          2. พูดให้เกียรติผู้ฟัง 
          3.พูดสิ่งที่มีประโยชน์
          การพูดเป็นทักษะอย่างหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร และมีพลังอำนาจที่จะนำไปใช้ให้บรรลุสิ่งต่างๆที่ต้องการ ปัจจุบันมีสื่อมากมาย เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ดังนั้นควรจะฝึกการพูดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้สื่อพวกนั้นอย่างถูกต้อง

การอ่าน 
          ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องใช้ทักษะการอ่านเพื่อรับสารให้มากขึ้นทั้งการอ่านสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่ม ข้อความต่างๆที่พิมพ์ลงในวัสดุหีบห่อต่างๆ
 ความสำคัญของการอ่าน
          นอกจากคนเราจะฟังเพื่อรับข้อมูลข่าวสารแล้วการ"อ่าน"ยังเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอีกทางหนึ่งด้วยจะเห็นว่าชาติที่เจริญคือชาติที่มีคนรักการอ่าน ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนา พบว่าคนในชาตินั้นอ่านหนังสือไม่ได้ ดังนั้นเราจึงควรพัฒนาการอ่านให้มากๆ
การพัฒนาทักษะการอ่าน
          1.ใช้กระบวนการอ่าน ต้องเข้าใจความหมายต่างๆในบทที่เราจะอ่าน
          2.รู้จักสำรวจและเลือกอ่าน รู้จักส่วนประกอบต่างๆของหนังสือ ตั้งแต่ปกหน้าจนถึงปกหลัง
          3.ใช้พจนานุกรมและปทานานุกรม เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน
          4.ฝึกอ่านเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ประเภทของการอ่าน
          1.อ่านในใจและการอ่านออกเสียง
          2.อ่านเพื่อจับใจความและแสดงความคิดเห็น
          3.การอ่านคำประพันธ์และท่องจำ
มารยาทในการอ่าน
          คุณสมบัติของนักอ่านที่ดีคืออ่านเก่ง อ่านเป็น มีมารยาทในการอ่าน
          1.แสดงกิริยา มารยาทในการอ่านได้เหมาะสม
          2.ปฏิบัติตัวตามระเบียบการใช้ห้องสมุด
          3.ไม่ขีดเขียน พับหน้ากระดาษตัดฉีก
          จะเห็นว่าทักษะการอ่านมีความสำคัญต่อชีวิต ควรฝึกอ่าน รู้จักลักษณะการอ่านและวิธีการอ่านลักษณะต่างๆช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพ

การเขียน
          การเขียนเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร
 ความสำคัญของการเขียน
          การบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ มีข้อจำกัดในการสื่อสารแต่ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษร เครื่องหมาย หรือรหัสต่างๆ จะทำให้สามารถรับรู้เรื่องราวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การพัฒนาทักษะการเขียน
          การพัฒนาทักษะการเขียนมีดังนี้
          1.สำรวจทัศนคติของตนว่าชอบเขียนหรือไม่
          2.ใช้กระบวนการเขียน ตั้งแต่ถ้อยคำ ประโยค โวหาร การเขียน นำมาเรียบเรียงเป็นเนื้อหาต่างๆ
          3.สะสมความรู้และทักษะต่างๆจากการฟัง ดู และการอ่าน
          4.ศึกษาแนวการเขียนของนักเขียนต่างๆ
ประเภทของการเขียน
          1.การเขียนเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น
          2.การเขียนจดหมายส่วนตัว
          3.การเขียนย่อความหรือสรุปประเด็น
          4.การเขียนรายงาน
          5.การเขียนโครงงาน
มารยาทในการเขียน
          1.การใช้ภาษาถ้อยคำ
          2.ให้เกียรติและยอมรับเจ้าของข้อมูล
          3.เลือกใช้สื่อที่ถูกต้องเหมาะสม
          การเขียนเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ปลูกฝังความรู้ให้กับเราโดยบันทึกลงบนวัสดุต่างๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน



วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะคำไทยแท้


๑.คำไทยแท้ส่วนมากพยางค์เดียว ไม่ว่าจะเป็นนาม สรรพนาม วิเศษณ์ บุพบท อุทาน สันธาน ฯลฯ มีคำไทยแท้หลายคำที่มีหลายพยางค์ เช่น มะม่วง สะใภ้ ตะวัน กระโดด มะพร้าว ทั้งนี้เพราะสาเหตุเกิดจาก
      ก. การกร่อนเสียง คำ ๒ พยางค์เมื่อพูดเร็วๆ เข้า คำแรกจะกร่อนลง เช่น
มะม่วง มากจาก หมากม่วง           ตะคร้อ มาจาก ต้นคร้อ
สะดือ มาจาก สายดือ                มะตูม มาจาก หมากตูม
ตะเข็บ มาจาก ตัวเข็บ                สะเอว มาจาก สายเอว
     ข. การแทรกเสียง คือคำ ๒ พยางค์เรียงกันแล้วมีเสียงแทรกตรงกลาง เช่น
ลูกกระดุม มาจาก ลูกดุม             ผักกระถิน มาจาก ผักถิน
นกกระจอก มาจาก นกจอก          ลูกกระเดือก มาจาก ลูกเดือก
ผักกระเฉด มาจาก ผักเฉด           นกกระจิบ มาจาก นกจิบ
     ค. การเติมพยางค์หน้าคำมูลโดยเติมคำให้มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
จุ๋มจิ๋ม – กระจุ๋มกระจิ๋ม               เดี๋ยว – ประเดี๋ยว
ท้วง – ประท้วง                      ทำ – กระทำ
โจน – กระโจน

๒.คำไทยแท้ไม่มีตัวการันต์ ไม่นิยมควบกล้ำ และมีตัวสะกดตรงตามมาตรา เช่น เชย สาว จิก กัด ๙ล๙

๓.คำไทยแท้มีวรรณยุกต์ทั้งมีรูปและไม่มีรูป เพื่อแสดงความหมาย เช่น ฉันอ่านข่าวเรื่องข้าว

๔.การเรียงคำในภาษาไทยสับที่กันทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น
ใจน้อย – น้อยใจ กลัวไม่จริง – จริงไม่กลัว

๕.คำไทยจะใช้รูป “ ไอ” กับ “ ใอ” จะไม่ใช้รูป “ อัย” เลยและจะไม่ค่อยพบพยัญชนะต่อไปนี้ ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ธ ศ ษ ฬ ยกเว้นคำบางคำที่เป็นคำไทย คือ ฆ่า เฆี่ยน ศอก ศึก ธ ณ ฯพณฯ ใหญ่ หญ้า เป็นต้น


ปัจจัยที่ส่งผลให้การนำเสนอมีประสิทธิภาพ


๑. เนื้อหาข้อมูล ผู้นำเสนอจะต้องจัดเตรียมความพร้อมของเนื้อหา ข้อมูล ดังนี้
๑.๑ จัดข้อมูลอย่างเป็นระบบและเป็นลำดับขั้นตอน
๑.๒ จัดทำเค้าโครงการนำเสนอทุกครั้งที่มีการนำเสนอ
๒. ผู้นำเสนอ ผู้นำเสนอที่มีประสิทธิภาพที่ดี ดังนี้
๒.๑ มีความรู้ในเรื่องที่จะนำเสนอเป็นอย่างดี
๒.๒ ศึกษาวิเคราะห์ผู้ฟัง โอกาสและสถานการณ์ก่อนการนำเสนอทุกครั้ง
๒.๓ มีบุคลิกภาพและการวางตัวที่เหมาะสม
๓. การดำเนินการนำเสนอ
๓.๑ เทคนิคและวิธีการนำเสนอ
๓.๑.๑ ใช้วิธีการนำเสนอที่เหมาะสม วิธีการที่ใช้สำหรับการนำเสนอ
ข้อมูลมีให้เลือกหลายวิธีด้วยกัน เช่น การอธิบายเหตุผล การเล่าเหตุการณ์
๓.๑.๒ ใช้อุปกรณ์ช่วยในการนำเสนอ นอกจากใช้วิธีการที่เหมาะสมกับ
การนำเสนอแล้ว ผู้นำเสนอจะต้องพยายามดึงดูดความสนใจ อุปกรณ์ที่นิยมใช้กันมี ดังนี้
- เอกสารประกอบการนำเสนอ
- แผ่นใน ภาพนิ่ง แผนผัง
๓.๑.๓ ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม การพูดเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึก
เบื่อหน่าย การกระตุ้นให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการนำเสนอนับเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยดึงความสนใจ
๓.๑.๔ รู้จักใช้จิตวิทยาในการนำเสนอ สำหรับจิตวิทยาในการนำเสนอ
แรงจูงใจ หมายถึง แรงจูงใจที่ชักจูงให้ผู้ฟังสนใจ ได้แก่ ความอยากรู้อยากเห็น
๓.๑.๕ สรุปทบทวนประเด็นสำคัญ การสรุปเป็นการช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจ
ชัดเจนยิ่งขึ้น
๓.๒ ศิลปะในการนำเสนอ
๓.๒.๑ มีการแสดงมารยาททางสังคม
  - การทักทายที่ประชุมเป็นการให้เกียรติ ที่สำคัญต้องมีความสุภาพ
  - การแนะนำตัว กรณีที่ไม่มีผู้ใดแนะนำตัวที่จะมานำเสนอให้กับผู้ฟังได้
รู้จัก ผู้นำเสนอจะต้องแนะนำชื่อตนเองให้ชัดเจน
๓.๒.๒ มีการใช้ภาษาที่เหมาะสม
   -  ภาษาที่ใช้ต้องมีความชัดเจน
   -  ภาษาที่ใช้ต้องมีเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล ผู้พูดต้อง
คำนึงถึงทุกเพศทุกวัย
   - ภาษาที่ใช้ต้องมีความสมเหตุสมผล ฉะนั้นผู้นำเสนอจึงควร
ยกตัวอย่างประกอบเรื่องที่พูดให้ชัดเจน
๓.๓ มีการแสดงออกที่เหมาะสม การนำเสนอถึงแม้จะเนื้อหาสาระดีเพียงใดหาก
มีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้การนำเสนอนั้นๆ หมดคุณค่าได้
๓.๓.๑ การแสดงออกทางใบหน้า ขณะที่นำเสนอผู้พูดควรแสดงความมี
มนุษยสัมพันธ์กับผู้ฟัง โดยการยิ้มแย้มแจ่มใส
๓.๓.๒ การทรงตัวและการวางท่า ในขณะที่ผู้นำเสนอยืนพูดหรือนั่งพูด
๓.๓.๓ มีมนุษยสัมพันธ์กับผู้ฟัง ความมีมนุษยสัมพันธ์อันดีนับเป็นส่วน
สำคัญในการสร้างมิตรภาพในการสื่อสาร สร้างความคุ้นเคย
๓.๓.๔ มีวิธีการสื่อสารที่ดี วิธีการสื่อสารก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีก
ประการหนึ่งที่มีส่วนกำหนดให้การนำเสนอนั้นมีประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพในการนำเสนอมี ๒ ลักษณะ คือ
๑. การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) คือการสื่อสารที่ข่าวสารจะถูกส่งจากผู้ส่งไปยังผู้รับในทิศทางเดียว โดยไม่มีการตอบโต้กลับจากฝ่ายผู้รับ เช่น การสื่อสารผ่านสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดย ฝ่ายผู้รับไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้รับอาจไม่เข้าใจข่าวสาร หรือเข้าใจไม่ถูกต้องตามเจตนาของผู้ส่งและทางฝ่ายผู้ส่งเมื่อไม่ทราบปฏิกิริยาของผู้รับจึงไม่อาจปรับการสื่อสารให้เหมาะสมได้ การสื่อสารแบบนี้สามารถทำได้รวดเร็วจึงเหมาะสำหรับการสื่อสารในเรื่องที่เข้าใจง่าย
ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง มีความจำเป็นต้องใช้การสื่อสารทางเดียว แม้ว่าเรื่องราวที่สื่อสารจะมีความซับซ้อนก็ตาม เช่น กรณีผู้รับและผู้ส่งไม่อาจพบปะ หรือติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรง การสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่ และการสื่อสารมวลชนซึ่งไม่อาจทราบผู้รับที่แน่นอน
๒. การสื่อสารสองทาง (Two-way Communication)  คือการสื่อสารที่มีการส่งข่าวสารตอบกลับไปมาระหว่างผู้สื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน ผู้สื่อสารมีโอกาสทราบปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างกัน ทำให้ทราบผลของการสื่อสารว่าบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ และช่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมในการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตัวอย่างการสื่อสารแบบสองทาง เช่น การพบปะพูดคุยกัน การพูดโทรศัพท์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดยฝ่ายรับมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การสื่อสารแบบนี้จึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า แต่ถ้าเรื่องราวที่จะสื่อสารเป็นเรื่องง่าย อาจทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น

ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง เช่น ในการสื่อสารมวลชน ซึ่งโดยปกติมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว นักสื่อสารมวลชนก็มีความพยายามที่จะทำให้มีการสื่อสารสองทางเกิดขึ้น โดยการให้ประชาชนส่งจดหมาย โทรศัพท์ ตอบแบบสอบถาม กลับไปยังองค์กรสื่อมวลชน เพื่อนำผลไปปรับปรุงการสื่อสารให้บรรลุผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การเตรียมการนำเสนอ

การเตรียมการนำเสนอ
การนำเสนอเรื่องในลักษณะใดก็ตามถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายหรือไม่เป็นไปดังที่ตั้งจุดหมายไว้ ฉะนั้นถ้าต้องการให้การนำเสนอข้อมูลเป็นไปด้วยความราบรื่นและบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ ผู้นำเสนอควรจะต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะนำเสนอทุกครั้ง การเตรียมการเพื่อนำเสนอข้อมูลมีขั้นตอนดังนี้
๑. การศึกษาข้อมูล
ผู้ที่จะนำเสนอจะต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
๑.๑ ศึกษาเรื่องที่จะนำเสนอเพื่อรวบรวมและจัดหมวดหมู่ข้อมูลที่จะนำเสนอให้ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด
๑.๒ ศึกษาวิเคราะห์ผู้รับการนำเสนอหรือผู้ฟัง เพื่อที่จะได้วางแผนการใช้เทคนิคและวิธีการนำเสนอ
๑.๓ ศึกษาวิเคราะห์นำเสนอ ตลอดจนการใช้ถ้อยคำภาษาที่เหมาะสม
๑.๓ ศึกษาวิเคราะห์จุดมุ่งหมายที่จะนำไปเสนอเพื่อให้สอดคล้องสัมพันธ์กับผู้รับ      การนำเสนอ
๑.๔ ศึกษาโอกาส เวลา และสถานที่ ที่จะนำเสนอเพื่อจะได้กำหนดเค้าโครงและเนื้อหาพร้อมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำเสนอ
๒. การวางแผนการนำเสนอ  จะช่วยให้การนำเสนอเป็นไปตามลำดับข้อมูลไม่สับสน ครบถ้วนสมบูรณ์ เหมาะสมกับเวลา การนำเสนอที่บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ควรมีการวางแผนที่จะนำเสนอดังนี้
          ๒.๑ รูปแบบวิธีการนำเสนอ โดยมีหลักในการวางรูปแบบวิธีการนำเสนอแบ่งกว้างๆ     ได้เป็น ๒ แบบ คือ
๑. การนำเสนอแบบที่เป็นทางการ  เช่น การนำเสนอแบบรูปแบบปาฐกถา    
การอภิปราย การบรรยายพิเศษต่าง ๆ
๒. การนำเสนอแบบที่ไม่เป็นทางการ
๒.๒ วางแนวทางในการแก้ปัญหาและอุปสรรค ปัญหาและอุปสรรคในการนำเสนออาจจะเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ กรณี  ถ้าเราคาดเดาปัญหาไว้ก่อนล่วงหน้าโดยการศึกษาข้อมูลก่อนที่จะนำเสนอให้ถ่องแท้ก็สามารถช่วยให้มองแนวทางในการแก้ปัญหาได้
๒.๓ วางเค้าโครงการนำเสนอ ทำได้โดยการนำหัวข้อที่จะนำเสนอมาแบ่งหมวดหมู่เรียงตามลำดับ แล้วเขียนเป็นลำดับขั้นคอนของแผนการนำเสนอ
๒.๔ วางแนวทางในการนำเสนอ เป็นการกำหนดแนวทางที่จะใช้ในการนำเสนอจัดทำหลังจากที่ได้วางเค้าโครงแล้ว การวางแนวทางในการเสนอจะช่วยให้ผู้นำเสนอเกิดความพร้อม ดังนี้
๑. กำหนดวิธีการนำเสนอ
๒. กำหนดสถานที่ที่พร้อมและเหมาะสมในการนำเสนอ
๓. กำหนดวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบการนำเสนอ
๔. กำหนดบุคคลผู้เกี่ยวข้อง
๕. กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอ
๒.๕ วางกำหนดขั้นตอนการนำเสนอ เมื่อได้วางแนวทางการนำเสนอขั้นต่างๆ มาแล้ว ขั้นสุดท้ายก็จะต้องกำหนดขั้นตอนการนำเสนอให้สัมพันธ์กับวิธีการ
๓. การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ การบรรยายเพียงอย่างเดียวไม่อาจดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงต้องใช้วัสดุหรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เรียกว่าโสตทัศนูปกรณ์ เข้ามาใช้ประกอบเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจแต่ที่นิยมใช้กันมี ดังนี้
๓.๑ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการบรรยาย
๑. เครื่องฉายแผ่นใส หรือเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ
๒. วีดิทัศน์ PowerPoint ภาพยนตร์ ภาพนิ่ง แผ่นใส
๓. แบบจำลอง
๓.๒ อุปกรณ์ที่ใช้เสริมการบรรยาย
๑. แผ่นพับ
๒. หนังสือ
๓. รูปภาพ
๔. เอกสารประกอบ
๔. การจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ ในการนำเสนอนอกจากจะต้องตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำมาประกอบการนำเสนอแล้ว การเตรียมความพร้อมของสถานที่ก็มีส่วนสำคัญ   ที่จะทำให้การนำเสนอเป็นไปได้ด้วยดี
๔.๑ การจัดห้องสำหรับการนำเสนอ ควรเลือกให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ฟังเช่น ห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องประชุมขนาดใหญ่
๔.๒ การจัดที่นั่งและแท่นสำหรับการนำเสนอ จะต้องเตรียมให้พร้อม
๑. แท่นสำหรับบรรยายใช้ในกรณีที่ยืนพูด
๒. โต๊ะสำหรับบรรยายใช้กรณีที่นั่งพูด
๓. โต๊ะวางอุปกรณ์ช่วยประกอบการบรรยาย
๔.๓ ระบบระบายอากาศ จะต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี

๔.๔ ระบบเสียง ควรมีการทดสอบก่อนการใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้ดี มีความดังชัดเจน
๔.๕ ระบบแสงสว่างภายในห้อง จะต้องให้เหมาะสมกับสายตาของผู้ฟัง พอเหมาะกับ  การใช้งาน

๔.๖ การประดับตกแต่งสถานที่ การใช้สิ่งประดับตกแต่งห้องหรือบริเวณที่จะใช้ใน     การนำเสนอทั้งสิ้น สิ่งที่นำมาตกแต่ง

ประเภทของการนำเสนอข้อมูล

ในระบบการทำงานปัจจุบันนี้ การนำเสนอด้วยวาจามีความจำเป็นและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีส่วนช่วยให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดมุ่งหมายและพัฒนางานได้รวดเร็วขึ้น การนำไปใช้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่นำไปใช้ และมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งและหน้าที่  การงานที่รับผิดชอบของผู้นำไปใช้ ประเภทของการนำเสนอแบ่งอย่างกว้าง ๆ มี ๒ รูปแบบ ดังนี้
๑. การนำเสนอเฉพาะกลุ่ม เป็นการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ต่อผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับทราบข้อมูลในการนำเสนอ
๒. การนำเสนอทั่วไปในที่สาธารณะ เป็นการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังการนำเสนอได้ มีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถามเพิ่มเติมหรือแสดงความคิดเห็นได้อีกด้วย

ลักษณะของข้อมูลที่นำเสนอ
ในการนำเสนอแต่ละครั้งนั้น สามารถนำข้อมูลที่มีลักษณะ  แตกต่างกันมาร่วมนำเสนอด้วยกันได้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้นำเสนอ ข้อมูลที่จะนำเสนอแบ่งออกตามลักษณะของข้อมูล ได้แก่
๑.ข้อเท็จจริง หมายถึง ข้อความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เรื่องราวเป็นมาหรือเป็นอยู่ตามความจริง อาจเป็นความรู้ที่ได้จากการทดสอบหรือทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานข้ออ้างอิงสำหรับกล่าวอ้างถึงในการพิสูจน์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
๒.ข้อคิดเห็น เป็นความเห็นอันเกิดจากประเด็นหรือเรื่องราวที่ชวนให้คิดอาจเป็นความรู้สึก ความเชื่อถือหรือแนวคิดที่ผู้นำเสนอมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความเห็นของแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ข้อคิดเห็นต่างจากข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นมีลักษณะ ต่าง ๆ กัน ดังนี้
๒.๑ ข้อคิดเห็นเชิงเหตุผล เป็นข้อคิดเห็นที่อ้างถึงเหตุผล อ้างถึงข้อเปรียบเทียบที่
เชื่อถือได้ และความมีเหตุผลต่อกัน โดยชี้ให้ผู้ฟังเห็นว่า ควรทำอย่างนี้เพราะเหตุเช่นนี้ แต่ถ้าไม่ทำอย่างที่กล่าวก็จะมีผลตามมาเป็นอย่างไร โดยทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลของผู้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น
๒.๒ ข้อคิดเห็นเชิงแนะนำ เป็นข้อคิดเห็นที่บอกกล่าวให้ผู้รับฟังทราบว่าสิ่งใด 
ควรปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติจะเป็นอย่างไร บางครั้งอาจมีการแนะนำวิธีการปฏิบัติควบคู่กันไปด้วยก็ได้
๒.๓ ข้อคิดเห็นเชิงวิจารณ์ เป็นข้อคิดเห็นที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยการ
เปรียบเทียบระหว่างส่วนดีกับส่วนบกพร่องหรือข้อดีข้อเสียหรือค้นหาข้อบกพร่องจากเรื่องนั้น ๆ แล้วนำมาเสนอแนะในแง่มุมที่ดีกว่าหรือควรนำมาปรับปรุงใหม่

ความหมายและความสำคัญของการนำเสนอข้อมูล

การนำเสนอข้อมูล หมายถึง การสื่อสารเพื่อเสนอข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นหรือความต้องการไปสู่ผู้รับสาร โดยใช้เทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ อันจะทำให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของการนำเสนอ

ความสำคัญของการนำเสนอ
ในปัจจุบันนี้การนำเสนอเข้ามามีบทบาทสำคัญในองค์กรทางธุรกิจ ทางการเมือง ทางการศึกษา หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐทุกแห่งก็ต้องอาศัยวิธีการนำเสนอเพื่อสื่อสารข้อมูลเสนอความเห็น เสนอขออนุมัติ หรือเสนอข้อสรุปผลการดำเนินงานต่าง ๆ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับ การประชาสัมพันธ์ การแนะนำเพื่อการเยี่ยมชม การฝึกอบรม การประชุม หรือผู้ที่เป็นหัวหน้างานทุกระดับจะต้องรู้จักวิธีการนำเสนอ เพื่อนำไปใช้ให้เหมาะสมกับงานต่าง ๆ และเพื่อผลสำเร็จของการพัฒนางานของตน หรือขององค์กรและหน่วยต่าง ๆ
กล่าวโดยสรุปการนำเสนอมีความสำคัญ ต่อการปฏิบัติงานทุกประเภท เพราะช่วยใน  การตัดสินใจในการดำเนินงาน ใช้ในการพัฒนางาน ตลอดจน เผยแพร่ความก้าวหน้าของงาน  ต่อผู้บังคับบัญชาและบุคคลผู้ที่สนใจ

จุดมุ่งหมายในการนำเสนอ
๑. เพื่อให้ผู้รับสารรับทราบความคิดเห็นหรือความต้องการ
๒. เพื่อให้ผู้รับสารพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
๓. เพื่อให้ผู้รับสารได้รับความรู้จากข้อมูลที่นำเสนอ
๔. เพื่อให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง