ทักษะการสื่อสารของมนุษย์
ประกอบไปด้วย การฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน การฟังและการอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับในการสื่อสารเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
การฟังเป็นทักษะซึ่งอาจมีข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่และความคงทนของสาร ส่วนการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญในการแสวงหาความรู้
ทั้งนี้ด้วยสื่อที่ใช้สำหรับการอ่านมีความคงทนมากกว่า ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา
และสถานที่
ดังนั้นจึงถือได้ว่า
ทักษะการอ่านมีความจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับผู้ที่แสวงหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน นักศึกษา
เพราะความสำเร็จทางการศึกษาย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและพื้นฐานทางการอ่านที่ดี
๑.๑
ความหมายและความสำคัญ
การอ่าน
คือ กระบวนการรับรู้และเข้าใจสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร
จากนั้นจึงแปลสัญลักษณ์อักษรเหล่านั้นเป็นความรู้ โดยอาศัยทักษะการอ่าน
กระบวนการคิด ประสบการณ์และความรู้ของผู้อ่านรวมถึงเมื่ออ่านจบแล้ว
ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องที่อ่าน ทั้งในลักษณะ เห็นด้วย คล้อยตาม หรือโต้แย้ง
ในการอ่านแต่ละครั้งไม่เพียงแต่ผู้อ่านจะได้รับสาระหรือเรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเท่านั้น
แต่ผู้อ่านยังสามารถรับรู้ทัศนะ เจตนา อารมณ์
และความรู้สึกที่ผู้เขียนถ่ายทอดมาในสาร
ซึ่งสิ่งที่ได้รับมาจากการอ่านแต่ละครั้งจึงมีทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ คือ
ข้อเท็จจริง และส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก หรือทัศนะของผู้เขียน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ในการตีความตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนทักษะการอ่านเพื่อให้เข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
๑.๒
ระดับของการอ่าน
ระดับของการอ่านแบ่งเป็น
๒ ระดับ คือ อ่านได้และอ่านเป็น การรับรู้จากการอ่านโดยทั่วไปเริ่มจากระดับที่อ่านได้
คือ สามารถแปลความหมาย รับรู้สารผ่านด้วยอักษร ส่วนในระดับอ่านเป็น
ผู้อ่านจะสามารถจับใจความสำคัญ แนวคิดของเรื่อง รวมถึงความหมายแฝง
หรือความหมายที่ได้จากการตีความ สามารถประเมินค่าจากสารที่อ่านได้
ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น