วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การสื่อสารของมนุษย์

         เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมมีการติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน มนุษย์จะรับรู้เรื่องราวและความหมาย รหัส หรือ สัญลักษณ์ต่างๆโดยรวมเรียกว่าภาษา
การสื่อสารของมนุษย์มีองค์ประกอบดังนี้
          1.ผู้ส่งสาร(ผู้พูดหรือผู้เขียน)                          2.สื่อหรือช่องทาง รวมทั้งการติดต่อ
          3.สารซึ่งใช้เป็นเนื้อหาบอกข้อมูลต่างๆ              4.ผู้รับสาร(ผู้ฟัง/ผู้ดู/ผู้อ่าน)
          5.สภาพแวดล้อม ได้แก่ กาลเทศะ โอกาส และบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดให้สื่อสารเหมาะสมกับชีวิตและวัฒนธรรม
การฟังและการดู
          การฟังเป็นการรับสารทางเสียง ส่วนการดูเป็นการรับสารทางภาพ
ความสำคัญของการฟังและการดู
          คนเรามีหูไว้ฟังเสียงและเรื่องราวต่างๆอีกทั้งยังมีตาไว้ดู สังเกต และมองสิ่งต่างๆรอบตัวนำมาใช้สร้างสรรค์สังคมให้เจริญรุ่งเรื่องมานับพันๆปีจากคนสมัยก่อน
 จุดมุ่งหมายของการฟังและการดู
          ในยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบันมีเรื่องราว ข้อมูลข่าวสารมากมาย นักเรียนจำเป็นต้องเลือกสรร ฟังและดูสารที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ หากไม่รู้จักคัดเลือกสารก็จะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นควรมีจุดมุ่งหมายของการฟังและการดู ดังนี้
          1. ฟังและดูเพื่อรับสาระความรู้ เพิ่มพูนสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์
          2.ฟังและดูเพื่อความบันเทิงผ่อนคลาย
การพัฒนาทักษะของการฟังและการดู
          ธรรมชาติสร้างให้คนเราฟังและดูตั้งแต่กำเนิดฉะนั้นควรจะพัฒนาทักษะอยู่เสมอ
          1.ตั้งใจฟังและดู
          2.ตั้งคำถาม
          3.จดบันทึก
          การพัฒนาทักษะการฟังและการดูเหล่านี้จะช่วยให้การฟังและการดูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการฟังเพื่อจับประเด็นและใจความสำคัญ
          การฟังจับประเด็นและใจความสำคัญใช้เพื่อฟังสาระและความบันเทิงให้แน่ชัดขึ้นอย่างเช่นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร แล้วสรุปเป็นประเด็น
หลักการฟังเพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น 
          นอกจากจะฟังเข้าใจและสามารถสรุปได้แล้ว นักเรียนจะต้องใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณว่าข้อมูลเรื่องราวที่ฟังส่วนใดสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งใดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งเราจะสามารถกลั่นกรองความคิด ความเชื่อถือ ไม่ให้หลงไปเชื่อผู้อื่นได้ง่ายๆ 
          การฟังข้อคิดเห็น ส่วนใหญ่จะอยู่ในโฆษณาซึ่งโน้มน้าวใจ เพราะใช้ความเกินจริง
มารยาทในการฟังและดู
          การพัฒนาการฟังและการดูยังไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอ ควรเสริมสร้างนิสัยและมารยาทที่ดีในการฟังและดูด้วยซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้มีวัฒนธรรม
          1.แสดงท่าทีสุภาพ เหมาะสมแก่โอกาสและสถานที่ บุคคลโดยเฉพาะในโอกาสและสถานที่ที่เป็นทางการ พิธีการ
          2.สนใจและตั้งใจในขณะที่ฟังและดู
          3.ให้เกียรติผู้พูด

การพูด
          มนุษย์สามารถเปล่งเสียงและรู้จักพัฒนาเสียงที่ไม่มีความหมายให้เข้าใจร่วมกัน แต่ละคนตั้งแต่ทารกจะสามารถ"พูดได้ "ด้วยการเลียนเสียงของผู้อื่นจากนั้นก็พัฒนามาเป็น"พูดเป็น"เมื่อมีโอกาสฝึกฝนก็จะกลายเป็น"พูดดี"ความสำคัญของการพูด
          ในการติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมร่วมกัน จำเป็นต้องพูดปราศรัยบอกกล่าวเรื่องราวให้คนอื่นเข้าใจ ถ้าทุกคนพูดดี สังคมก็จะเกิดความสันติสุข ถ้าทุกคนพูดไม่ดี สังคมก็จะเกิดความขัดแย้ง
     การพัฒนาทักษะการพูด
          1.การฝึกออกเสียง                                     2.ฝึกบุคลิกภาพในขณะที่พูด
          3.ฝึกรูปแบบการพูดในสถานการณ์ต่างๆ
จุดมุ่งหมายในการพูด
          1.พูดเพื่อแจ้งให้ทราบ                                  2.พูดเพื่อโน้มน้าวใจ
          3.พูดเพื่อจรรโลงใจหรือให้ข้อคิดเตือนใจ            4.พูดเพื่อค้นหาคำตอบ
ประเภทของการพูด
          1.การพูดเล่าเรื่องราว เล่าเหตุการณ์ การเล่านิทาน          2.การพูดรายงาน
          3.การพูดแสดงความคิดเห็น และมีการพูดโต้วาทีด้วย
มารยาทในการพูด
          1. พูดสุภาพ
          2. พูดให้เกียรติผู้ฟัง 
          3.พูดสิ่งที่มีประโยชน์
          การพูดเป็นทักษะอย่างหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร และมีพลังอำนาจที่จะนำไปใช้ให้บรรลุสิ่งต่างๆที่ต้องการ ปัจจุบันมีสื่อมากมาย เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ดังนั้นควรจะฝึกการพูดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้สื่อพวกนั้นอย่างถูกต้อง

การอ่าน 
          ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องใช้ทักษะการอ่านเพื่อรับสารให้มากขึ้นทั้งการอ่านสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่ม ข้อความต่างๆที่พิมพ์ลงในวัสดุหีบห่อต่างๆ
 ความสำคัญของการอ่าน
          นอกจากคนเราจะฟังเพื่อรับข้อมูลข่าวสารแล้วการ"อ่าน"ยังเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอีกทางหนึ่งด้วยจะเห็นว่าชาติที่เจริญคือชาติที่มีคนรักการอ่าน ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนา พบว่าคนในชาตินั้นอ่านหนังสือไม่ได้ ดังนั้นเราจึงควรพัฒนาการอ่านให้มากๆ
การพัฒนาทักษะการอ่าน
          1.ใช้กระบวนการอ่าน ต้องเข้าใจความหมายต่างๆในบทที่เราจะอ่าน
          2.รู้จักสำรวจและเลือกอ่าน รู้จักส่วนประกอบต่างๆของหนังสือ ตั้งแต่ปกหน้าจนถึงปกหลัง
          3.ใช้พจนานุกรมและปทานานุกรม เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน
          4.ฝึกอ่านเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ประเภทของการอ่าน
          1.อ่านในใจและการอ่านออกเสียง
          2.อ่านเพื่อจับใจความและแสดงความคิดเห็น
          3.การอ่านคำประพันธ์และท่องจำ
มารยาทในการอ่าน
          คุณสมบัติของนักอ่านที่ดีคืออ่านเก่ง อ่านเป็น มีมารยาทในการอ่าน
          1.แสดงกิริยา มารยาทในการอ่านได้เหมาะสม
          2.ปฏิบัติตัวตามระเบียบการใช้ห้องสมุด
          3.ไม่ขีดเขียน พับหน้ากระดาษตัดฉีก
          จะเห็นว่าทักษะการอ่านมีความสำคัญต่อชีวิต ควรฝึกอ่าน รู้จักลักษณะการอ่านและวิธีการอ่านลักษณะต่างๆช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพ

การเขียน
          การเขียนเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร
 ความสำคัญของการเขียน
          การบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ มีข้อจำกัดในการสื่อสารแต่ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษร เครื่องหมาย หรือรหัสต่างๆ จะทำให้สามารถรับรู้เรื่องราวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การพัฒนาทักษะการเขียน
          การพัฒนาทักษะการเขียนมีดังนี้
          1.สำรวจทัศนคติของตนว่าชอบเขียนหรือไม่
          2.ใช้กระบวนการเขียน ตั้งแต่ถ้อยคำ ประโยค โวหาร การเขียน นำมาเรียบเรียงเป็นเนื้อหาต่างๆ
          3.สะสมความรู้และทักษะต่างๆจากการฟัง ดู และการอ่าน
          4.ศึกษาแนวการเขียนของนักเขียนต่างๆ
ประเภทของการเขียน
          1.การเขียนเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น
          2.การเขียนจดหมายส่วนตัว
          3.การเขียนย่อความหรือสรุปประเด็น
          4.การเขียนรายงาน
          5.การเขียนโครงงาน
มารยาทในการเขียน
          1.การใช้ภาษาถ้อยคำ
          2.ให้เกียรติและยอมรับเจ้าของข้อมูล
          3.เลือกใช้สื่อที่ถูกต้องเหมาะสม
          การเขียนเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ปลูกฝังความรู้ให้กับเราโดยบันทึกลงบนวัสดุต่างๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน