วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นิราศภูเขาทอง

กวี      :         สุนทรภู่
ประเภท :       นิราศ
คำประพันธ์ :   กลอนนิราศ
สมัย     :        รัตนโกสินทร์
ปีที่แต่ง :         ประมาณ พ.ศ. 2371
      นิราศภูเขาทองเป็นวรรณคดีประเภทนิราศ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศเรื่องที่ดีที่สุดของสุนทรภู่ (พ.ศ. 2329 - 2398) ท่านแต่งนิราศเรื่องนี้จากการเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ที่กรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) เมื่อเดือนสิบเอ็ด ปีชวด (พ.ศ. 2371) ขณะบวชเป็นพระภิกษุ
ลักษณะคำประพันธ์
นิราศภูเขาทองแต่งด้วยกลอนนิราศ มีความคล้ายคลึงกับกลอนสุภาพ แต่เริ่มด้วย วรรครับจบ ด้วยวรรคส่งลงท้ายด้วย คำว่า เอย มีความยาวเพียง 89 คำกลอนเท่านั้น แต่มีความไพเราะ และเรียบง่าย ตามแบบฉบับของสุนทรภู่ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย บรรยายความรู้สึกขณะเดียวกันก็เล่าถึงสภาพของเส้นทางที่กำลังเดินทางไปด้วย ท่านมักจะเปรียบเทียบชีวิตและโชคชะตาของตนกับธรรมชาติรอบข้างที่ตนได้เดินทางผ่านไป มีหลายบทที่เป็นที่รู้จักและท่องจำกันได้...
การเดินทางในนิราศ
สุนทรภู่ล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาไปกับลูกชายชื่อหนูพัด ผ่านวัดประโคนปัก บางยี่ขัน ถึงบางพลัด ผ่านตลาดแก้วตลาดขวัญในเขตจังหวัดนนทบุรี จากนั้นก็ผ่านเกาะเกร็ด ซึ่งเป็นย่านชาวมอญ เข้าสู่จังหวัดปทุมธานี หรือเมืองสามโคก แล้วเข้าเขตอยุธยา จอดเรือที่ท่าวัดพระเมรุ ค้างคืนในเรือ มีโจรแอบจะมาขโมยของในเรือ แต่ไหวตัวทัน รุ่งเช้าเป็นวันพระ ลงจากเรือเดินทางไปที่เจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งเป็นเจดีย์ร้าง เก็บพระบรมธาตุมาไว้ในขวดแก้วตั้งใจจะนำไปนมัสการที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อตื่นมาก็ไม่พบพระบรมธาตุ จึงได้เดินทางกลับ
บางตอนจากนิราศภูเขาทอง
         ๏ ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ


         ๏ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ


         ๏ จงทราบความตามจริงทุกสิ่สิ้น
อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน
นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ
จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอยฯ

คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์
คุณค่าทางวรรณศิลป์ในกลอนนิราศภูเขาทอง มีการเลือกใช้คำดีเด่นต่างๆ ดังนี้
สัมผัสสระ คือ คำที่ใช้สระตัวเดียวกัน
สัมผัสอักษร คือ คำที่มีอักษรคล้องจองกัน
การซ้ำเสียง คือ การสัมผัสอักษรอย่างหนึ่ง นับเป็นการเล่นคำที่ทำให้เกิด เสียงไพเราะ  การซ้ำเสียงจะต้องเลือกคำที่ให้จินตภาพแก่ผู้อ่านอย่างแจ่มชัดด้วย
-  การใช้กวีโวหาร คือ นิราศภูเขาทองมีภาพพจน์ลักษณะต่างๆ ที่กวีเลือกใช้ ทำให้ผู้อ่านได้เข้าถึงความคิด ความรู้สึกของกวี
-  ภาพพจน์อุปมา คือโวหารที่เปรียบเทียบของสองสิ่งว่าเหมือนกัน มักใช้คำว่า เหมือน คล้าย ดุจ ดูราว ราวกับ
-  ภาพพจน์กล่าวเกินจริง คือ การที่กวีอาจกล่าวมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เพื่อสื่อให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพในความคิดคำนึงได้ดีขึ้น
-  การเลียนเสียง คือ กวีทำให้เสียงที่ได้ยินมาบรรยายให้เกิด มโนภาพและความไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น

                   การเล่นคำ คือ การใช้ถ้อยคำคำเดียวในความหมายต่างกันเพื่อให้ การพรรณนาไพเราะน่าอ่าน และมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น

1 ความคิดเห็น: