วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รสในวรรณคดีไทย

รสแห่งกาพย์กลอนไทยมี ๔ รส 
๑. เสาวรจนีย์ (บทชมโฉม) คือ การเล่าชมความงามของตัวละครในเรื่อง ซึ่งอาจเป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ หรือสัตว์ซึ่งการชมนี้อาจจะเป็นการชมความเก่งกล้าของกษัตริย์ ความงามของปราสาทราชวังหรือความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่น บทชมโฉมนางมัทมา โดยท้าวชัยเสนรำพันไว้ ในวรรคดีเรื่องมัทนะพาธา
เสียงเจ้าสิเพรากว่า          ดุริยางคะดีดใน
ฟากฟ้าสุราลัย               สุรศัพทะเริงรมย์
ยามเดินบนเขินขัด          กละนัจจะน่าชม
กรายกรก็เร้ารม              ยะประหนึ่งระบำสรวย
ยามนั่งก็นั่งเรียบ            และระเบียบเขินขวย
แขนอ่อนฤเปรียบด้วย     ธนุก่งกระชับไว้
พิศโฉมและฟังเสียง      ละก็เพียงจะขาดใจ ...
                               (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
บทชมนางเงือก ซึ่งติดตามพ่อแม่มาเพื่อพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร จากเรื่อง พระอภัยมณี
บทกษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย        ดูแช่มช้อยโฉมลาทั้งเผ้าผม
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม    ทั้งเนื้อนมนวลเปลปงออกเต่งทรวง
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด           ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง
พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง   แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป
                                                                    (สุนทรภู่)

เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ          งามสรรพสะพรั่งดังเลขา
งามเขาเห็นเป็นกิ่งกาญจนา         งามตานิลรัตน์รูจี
คอก่งเป็นวงราววาด                  รูปสะอากราวนางสำอางศรี
เหลียวหน้ามาดูภูมี                   งามดังนารีชำเลืองอาย
ยามวิ่งลิ่วล้ำดังลมส่ง                ตัดตรงทุ่งพลันผันผาย
                                         (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

๒. นารีปราโมทย์ (บทเกี้ยว โอ้โลม) คือการกล่าวข้อความแสดงความรัก ทั้งที่เป็นการพบกันในระยะแรกๆ และในโอ้โลมปฏิโลมก่อนจะถึงบทสังวาสนั้นด้วย
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร            ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร               ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา              เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำไพขอให้พี่                   เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่ครอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง    เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
                                             (สุนทรภู่)

๓. พิโรธวาทัง (บทตัดพ้อ) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่น้อยไปจนมาก จึงเริ่มตั้งแต่ ไม่พอใจ โกรธ ตัดพ้อ ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี และด่าว่าอย่างรุนแรง
น้ำใจนางเหมือนน้ำค้างบนไพรพฤกษ์    เมื่อยามดึกดังจะรองเข้าดื่มได้
ครั้งรุ่งแสงสุรีย์ฉายก็หายไป               เพิ่งเห็นใจเสียเมื่อใจจะขาดรอน
                                                 (ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)
ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้                          ถึงเสียรู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน
เป็นชายหมิ่นชายต้องอายคน           จำจนจำจากอาลัยลาน
                                               (เจ้าพระยาพระคลัง(หน))
บทตัดพ้อที่แสดงทั้งอารมณ์รักและแค้นของ อังคาร กัลยาณพงศ์ จากบทกวี เสียเจ้า
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก                  ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย                 อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
                                            (อังคาร กัลยาณพงศ์)
บทตัดพ้อที่แทรกอารมณ์ขันของ  จากบทกวี ปากกับใจ
เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก                 ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน
ไม่รักเราเราจักไม่รักใคร               เอ๊ะน้ำตาเราไหลทำไมฤๅ
                                            (สุจิตต์ วงษ์เทศ)
๔. สัลลาปังคพิไสย (บทโศก) คือ การกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า อาลัยรัก บทโศกของนางวันทอง ซึ่งคร่ำครวญอาลัยรักต้นไม่ในบางขุนช้าง อันแสดงให้เห็นว่านางไม่ต้องการตามขุนแผนไป แต่ที่ต้องไปเพราะขุนแผนร่ายมนต์สะกด ก่อนลานางได้ร่ำลาต้นไม้ก่อนจากไป จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี
ลำดวนเอยจะด่วนไปก่อนแล้ว         ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
จะโรยร้างห่างกลิ่นมาลี                จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
                                            (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
          สุนทรภู่คร่ำครวญถึงรัชกาลที่2ซึ่งสวรรคตแล้ว เป็นเหตุให้สุนทรภู่ต้องตกระกำลำบาก เพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่3 ต้องระเห็ดเตร็ดเตร่ไปอาศัยในที่ต่างๆขณะล่องเรือผ่านพระราชวัง สุนทรภู่ซึ่งรำลึกความหลังก็คร่ำครวญอาลัยถึงอดีตที่เคยรุ่งเรืองจากนิราศภูเขาทอง
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ        ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา                  วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์
                                                (สุนทรภู่)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น