วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเขียนเรียงความที่ดี เขียนอย่างไร....

           เรียงความ คือ งานเขียนร้อยแก้วที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความคิด ความรู้สึกของผู้เขียน โดยมีการเรียบเรียงประโยค เรียบเรียงคำด้วยภาษาที่สละสลวย สำหรับเรียงความที่ดีนั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

1. คำนำ

           เรียงความที่ดีนั้นควรเขียน "คำนำ" เป็นส่วนแรก โดย "คำนำ" จะทำหน้าที่เปิดประเด็นของเรื่องที่เราจะเขียน ซึ่งควรเปิดประเด็นให้น่าสนใจ ใช้ภาษาสละสลวย ดึงดูดใจให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อ แต่ไม่ควรบรรยายมากจนเยิ่นเย้อเกินไป ควรเขียนให้กระชับ ตรงประเด็น ไม่ออกนอกเรื่อง และไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุป

           ทั้งนี้ หลาย ๆ เรียงความ อาจเปิดเรื่องด้วยการยกคำคม สุภาษิต หรือบทกวีที่ไพเราะมาเปิดเรื่องเป็นคำนำก็ได้ ซึ่งหากเขียนดี ๆ ก็จะช่วยทำให้เรียงความนี้ดูน่าสนใจขึ้นมาก

2. เนื้อเรื่อง

           เป็นส่วนสำคัญของเรียงความ ซึ่งจะใช้อธิบายในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกเล่า ทั้งความคิด ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ โดยก่อนเขียนเนื้อเรื่องนั้น ผู้เขียนควรวางโครงเรื่องไว้ก่อนว่าแต่ละย่อหน้าจะเขียนในประเด็นใดบ้าง เพื่อจะได้ไม่สับสน และทำให้การเรียบเรียงเนื้อเรื่องดูเป็นระเบียบ

           สำหรับการเขียน "เนื้อเรื่อง" นั้น สิ่งสำคัญก็คือ ผู้เขียนต้องเขียนข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วน แต่ละย่อหน้าควรมีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว และเนื้อหาทุกย่อหน้าต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ไม่วนไปวนมา เพื่อจะทำให้ผู้อ่านไม่สับสน และเข้าใจว่า ผู้เขียนต้องการสื่อหรือบอกอะไรถึงผู้อ่านได้รับรู้

3. สรุป

           เรียงความที่ดีนั้นต้องมีส่วนสรุปในย่อหน้าสุดท้ายของเรียงความด้วย เพื่อทิ้งท้ายให้ผู้อ่านรู้สึกประทับใจ โดยการเขียนสรุปนั้น ทำได้หลายวิธี อย่างเช่น การตั้งคำถามทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด การชักชวน หรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านปฏิบัติตาม คล้อยตามในความคิดของเรา หรือทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจ หรือยกคำพูด คำคมที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของเรามาปิดท้ายก็ได้ 

           ทั้งนี้ หลัก ๆ ก็คือ ควรเขียนสรุปให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ และไม่ควรตั้งประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก เพราะจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรียงความของเรายังไม่จบ และที่สำคัญ ไม่ควรสรุปด้วยการใช้เขียนในลักษณะที่ว่าขออภัยหากมีข้อผิดพลาดประการใด หรือออกตัวว่าผู้เขียนไม่มีความรู้ เพราะจะทำให้เรียงความชิ้นนี้ดูไม่น่าเชื่อถือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น