วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศิลปะการประพันธ์ในวรรณคดีไทย

             ศิลปะการประพันธ์ในวรรณคดี ศิลปะในการสร้างสรรค์วรรณคดีให้มีความงาม ความไพเราะ และความหมายเป็นที่จับใจผู้อ่านนั้นเรียกว่า วรรณศิลป์ กลวิธีการประพันธ์ที่สำคัญที่จะกล่าวถึงมีดังนี้ การเล่นเสียง การเล่นคำ และการใช้ภาพพจน์
             ๑.การเล่นเสียง คือ การสรรคำให้มีเสียงสัมผัสเป็นพิเศษกว่าปกติเพื่อให้เกิดทำนอง เสียงที่ไพเราะน่าฟัง มีทั้ง การเล่นเสียงพยัญชนะ การเล่นเสียงสระ และการเล่นเสียงวรรณยุกต์
                 ๑.๑ การเล่นเสียงพยัญชนะ คือ การใช้พยัญชนะเดียวกันหลายพยางค์ติดๆกัน คำประพันธ์ ร้อยกรองโดยทั่วไปไม่บังคับสัมผัสพยัญชนะ แต่กวีนิยมใช้เสียงสัมผัสพยัญชนะเพื่อให้มีความไพเราะ ปกติมักจะเป็นเสียงสัมผัส ๒-๓ เสียง เช่น "ปัญญาตรองตริล้ำลึกหลาย" (โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีเสียงสัมผัสพยัญชนะ คือ ตรอง-ตริ,ล้ำ-ลึก-หลาย 
                ๑.๒ การเล่นเสียงสระ คือ การใช้สัมผัสสระเดียวกันหลายพยางค์ติดๆกัน 
                ๑.๓ การเล่นเสียงวรรณยุกต์ คือ การใช้คำที่ไล่ระดับเสียง ๒ หรือ ๓ ระดับเป็นชุดๆไป *หมายเหตุ   ๑. สัมผัสพยัญชนะ คือ การใช้คำที่มีเสียงพยัญชนะเสียงเดียวกัน เช่น เพื่อน-พ้อง 
                 ๒. สัมผัสสระ คือ การใช้คำคล้องจองที่มีสระเดียวกัน เช่น อา-สา
             ๒. การเล่นคำ คือ การสรรคำมาเรียงร้อยในคำประพันธ์ โดยพลิกแพลงให้เกิดความหมายพิเศษและแปลกออกไปจากที่ใช้กันอยู่ เพื่ออวดฝีมือของกวี มีการเล่นคำพ้อง การเล่นคำซ้ำ และการเล่นเชิงถาม 
                ๒.๑ การเล่นคำพ้อง คือ การนำคำพ้องมาใช้คู่กันให้เกิดความหมายที่สัมพันธ์กัน เช่น           
             "เบญจวรรณจับวัลย์มาลี เหมือนวันเจ้าวอนพี่ให้ตามกวาง"
          (บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) 
             กวีเล่นคำที่มีเสียง "วัน" ๓ คำ คือ (เบญจ)วรรณ-วัลย์-วัน โดยนำมาใช้ให้มีความหมายสัมพันธ์กันได้อย่างกลมกลืน 
             การเล่นคำพ้องเป็นกลวิธีการประพันธ์ที่กวีนิยมมาก นอกจากคำพ้องเสียงดังข้างต้นแล้วนั้น ยังมีคำพ้องรูปอีก เช่น
             "เห็นรอหักเหมือนหนึ่งรักพี่รอรา แต่รอท่ารั้งทุกข์มาตามทาง"
                                                                          (นิราศพระบาท ของ สุนทรภู่)
             รอ คำแรก คือ หลักปักกั้นกระแสน้ำ ส่วน "รอ" ในคำว่า "รอรา" คือหยุด และในคำว่า "รอท่า" หมายถึง คอย 
                ๒.๒ การเล่นคำซ้ำ คือ การนำคำคำเดียวมาใช้ซ้ำๆในที่ใกล้ๆกันเพื่อย้ำความหมายของข้อความให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น 
                ๒.๓ การเล่นคำเชิงถาม คือ การเรียงถ้อยคำให้เป็นประโยคเชิงถาม แต่เจตนาที่แท้จริงไม่ได้ถาม เพราะไม่ต้องการคำตอบ แต่ต้องการเน้นให้ข้อความมีน้ำหนักดึงดูดความสนใจและให้ผู้ฟังคิดตาม บางท่านอาจเรียกว่า วาทศิลป์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น