วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โวหารภาพพจน์


          ๑. อุปมา  ( Simile)   อุปมา    คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มี ความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า " เหมือน "  เช่น     ดุุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ   เปรียบ   ประดุจ    เฉก   เล่ห์   ปาน   ประหนึ่ง  เพียง    เพี้ยง    พ่าง    ปูน  ฯลฯ           ตัวอย่างเช่นปัญญาประดุจดังอาวุธ                                         ไพเราะกังวานปานเสียงนกร้อง          
ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา                                  จมูกเหมือนลูกชมพู่                
           ๒. อุปลักษณ์  ( Metaphor )  อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบ สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งอุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัย  ให้เข้าใจเอาเอง  ที่สำคัญ  อุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา
               ตัวอย่างเช่น
ขอเป็นเกือกทองรองบาทาไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย ทหารเป็นรั้วของชาติ
เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด                            ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
ครูคือแม่พิม์ของชาติ                                            ชีวิตคือการต่อสู้     ศัตรูคือยากำลัง

           ๓. ปฏิพากย์  ( Paradox ) ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
                ตัวอย่างเช่น   เลวบริสุทธิ์   บาปบริสุทธิ์  สวยเป็นบ้า  สวยอย่างร้ายกาจ   สนุกฉิบหาย  สวรรค์บนดิน   ยิ่งรีบยิ่งช้า   น้ำร้อนปลาเป็น   น้ำเย็นปลาตาย

           ๔. อติพจน์    (  Hyperbole ) อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อเน้นความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้งภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน   
              ตัวอย่างเช่น   คิดถึงใจจะขาด   คอแห้งเป็นผง  ร้อนตับจะแตก  หนาวกระดูกจะหลุด 
คิดถึงเธอทุกลมหายใจเข้าออก 
              ในกรณีที่ใช้โวหารต่ำกว่าจริงเรียกว่า "อวพจน์"
             ตัวอย่างเช่น   เล็กเท่าขี้ตาแมว   เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว  รอสักอึดใจเดียว
           ๕. บุคลาธิษฐาน   (  Personification ) บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต   คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ     เช่น โต๊ะ    เก้าอี้    อิฐ  ปูน   หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น  ต้นไม้  สัตว์  โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์      
( บุคลาธิษฐาน  มาจากคำว่า  บุคคล + อธิษฐาน หมายถึง   อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล )       
            ตัวอย่างเช่น                           
                 มองซิ..มองทะเล                    บางครั้งมันบ้าบิ่น
        ทะเลไม่เคยหลับใหล                        บางครั้งยังสะอื้น            
        เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน                       กระแทกหินดังครืนครืน
        ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น                  ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป
        ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ              ดินนั้นถืออภิสิทธิ์ชีวิตข้าเองไม่เกรงดินฟ้า

            ๖. สัญลักษณ์   ( symbol )สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป    ตัวอย่างเช่น
                เมฆหมอก              แทน                        อุปสรรค
                สีดำ                      แทน                        ความตาย  ความชั่วร้าย
                กุหลาบแดง            แทน                        ความรัก
                หงส์                     แทน                        คนชั้นสูง
                กา                       แทน                        คนต่ำต้อย
                ดอกไม้                 แทน                        ผู้หญิง 

           ๗. นามนัย   ( Metonymy ) นามนัย  คือการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆสัญลักษณ์   แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าว  ให้หมายถึงส่วนทั้งหมด   ตัวอย่างเช่น           
              เมืองโอ่ง                 หมายถึง                  จังหวัดราชบุรี
              เมืองย่าโม               หมายถึง                  จังหวัดนครราชสีมา
              ทีมสิงโตคำราม         หมายถึง                  อังกฤษ
              เก้าอี้                      หมายถึง                  ตำแหน่ง
              มือที่สาม                 หมายถึง                  ผู้ก่อความเดือดร้อน

         ๘. สัทพจน์   ( Onematoboeia ) สัทพจน์  หมายถึง ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ    เช่น  เสียงดนตรี    เสียงสัตว์   เสียงคลื่น    เสียงลม   เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ  การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ  ตัวอย่างเช่น           
               ลูกหมาร้องบ๊อก ๆ ๆ    
               ลุกนกร้องจิ๊บๆๆ   
               ลูกแมวร้องเหมียว ๆ ๆ
               เปรี้ยง ๆ  ดังเสียงฟ้าฟาด     
               คลื่นซัดครืนครืนซ่าที่ผาแดง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น