วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประเภทของการนำเสนอข้อมูล

ในระบบการทำงานปัจจุบันนี้ การนำเสนอด้วยวาจามีความจำเป็นและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีส่วนช่วยให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดมุ่งหมายและพัฒนางานได้รวดเร็วขึ้น การนำไปใช้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่นำไปใช้ และมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งและหน้าที่  การงานที่รับผิดชอบของผู้นำไปใช้ ประเภทของการนำเสนอแบ่งอย่างกว้าง ๆ มี ๒ รูปแบบ ดังนี้
๑. การนำเสนอเฉพาะกลุ่ม เป็นการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ต่อผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับทราบข้อมูลในการนำเสนอ
๒. การนำเสนอทั่วไปในที่สาธารณะ เป็นการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังการนำเสนอได้ มีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถามเพิ่มเติมหรือแสดงความคิดเห็นได้อีกด้วย

ลักษณะของข้อมูลที่นำเสนอ
ในการนำเสนอแต่ละครั้งนั้น สามารถนำข้อมูลที่มีลักษณะ  แตกต่างกันมาร่วมนำเสนอด้วยกันได้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้นำเสนอ ข้อมูลที่จะนำเสนอแบ่งออกตามลักษณะของข้อมูล ได้แก่
๑.ข้อเท็จจริง หมายถึง ข้อความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เรื่องราวเป็นมาหรือเป็นอยู่ตามความจริง อาจเป็นความรู้ที่ได้จากการทดสอบหรือทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานข้ออ้างอิงสำหรับกล่าวอ้างถึงในการพิสูจน์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
๒.ข้อคิดเห็น เป็นความเห็นอันเกิดจากประเด็นหรือเรื่องราวที่ชวนให้คิดอาจเป็นความรู้สึก ความเชื่อถือหรือแนวคิดที่ผู้นำเสนอมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความเห็นของแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ข้อคิดเห็นต่างจากข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นมีลักษณะ ต่าง ๆ กัน ดังนี้
๒.๑ ข้อคิดเห็นเชิงเหตุผล เป็นข้อคิดเห็นที่อ้างถึงเหตุผล อ้างถึงข้อเปรียบเทียบที่
เชื่อถือได้ และความมีเหตุผลต่อกัน โดยชี้ให้ผู้ฟังเห็นว่า ควรทำอย่างนี้เพราะเหตุเช่นนี้ แต่ถ้าไม่ทำอย่างที่กล่าวก็จะมีผลตามมาเป็นอย่างไร โดยทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลของผู้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น
๒.๒ ข้อคิดเห็นเชิงแนะนำ เป็นข้อคิดเห็นที่บอกกล่าวให้ผู้รับฟังทราบว่าสิ่งใด 
ควรปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติจะเป็นอย่างไร บางครั้งอาจมีการแนะนำวิธีการปฏิบัติควบคู่กันไปด้วยก็ได้
๒.๓ ข้อคิดเห็นเชิงวิจารณ์ เป็นข้อคิดเห็นที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยการ
เปรียบเทียบระหว่างส่วนดีกับส่วนบกพร่องหรือข้อดีข้อเสียหรือค้นหาข้อบกพร่องจากเรื่องนั้น ๆ แล้วนำมาเสนอแนะในแง่มุมที่ดีกว่าหรือควรนำมาปรับปรุงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น